Last updated: 6 มี.ค. 2564 | 4807 จำนวนผู้เข้าชม |
มะตูมกับสรรพคุณทางยา
มะตูม (Beal) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Aegle marmelos (L.) Correa มะตูมเป็นผลไม้ที่มักนำมาคั้นเป็นเครื่องดื่มเพิ่มความสดชื่นและทำเป็นเมนูกินเล่นอย่างมะตูมเชื่อมหรือเค้กมะตูม เชื่อกันว่ามีสรรพคุณทางยาตามตำรับยาอายุรเวท ผู้คนจึงนิยมนำผลและส่วนต่าง ๆ ของต้นมะตูมมาใช้รักษาปัญหาสุขภาพบางประการด้วย มะตูมประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิด เช่น แทนนิน ไกลโคไซด์ เตอร์ปีนอยด์ ฟีนอล และควิโนน ราก ใบ และเปลือกของต้นมะตูมนิยมนำมาต้มดื่มเป็นยาระบาย ลดไข้ หรือขับเสมหะ ส่วนผลใช้บรรเทาอาการท้องร่วง ปวดท้อง และแก้โรคบิด ที่สำคัญ ยังปรากฏการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของมะตูมในด้านการรักษาโรค
18 ประโยชน์และสรรพคุณดีๆ จาก “มะตูม”
1. มะตูมมีสรรพคุณแก้ร้อนใน แก้กระหาย ให้ความสดชื่น
2. มะตูมเป็นยาแผนโบราณช่วยคลายความร้อนในร่างกาย ช่วยฟื้นไข้ได้ดี
3. ประโยชน์ของมะตูมช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
4. มะตูมช่วยในการหลั่งของอินซูลิน จึงมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน
5. มะตูมช่วยแก้อาการอ่อนเพลียจากอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ
6. สรรพคุณมะตูมช่วยขับลม แก้ท้องอืด ช่วยระบายท้อง
7. มะตูมช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยรักษาลำไส้
8. มะตูมช่วยแก้โรคบิด และช่วยฆ่าเชื้อโรคในลำไส้
9. ประโยชน์ของมะตูมเป็นยาระบายอ่อนๆ
10. รากมะตูมเป็นยาสมุนไพรช่วยรักษาอาการไข้จับสั่น
11. ใบมะตูมเป็นยาสมุนไพรช่วยฆ่าเชื้อโรค รักษาแผลสด
12. ใบมะตูมเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย
13. ใบมะตูมมีสรรพคุณเป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ
14. มะตูมมีความหวานที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
15. ใบมะตูมช่วยลดอาการบวมของผิวหนัง
16. สรรพคุณใบมะตูมช่วยแก้ไอ แก้หอบหืด
17. ประโยชน์ของมะตูมช่วยขับพิษออกทางปัสสาวะ
18. มะตูมช่วยแก้ท้องผูก แก้ปวดท้องจากอาหารอาหารไม่ย่อย ทำให้รู้สึกสบายท้อง
บรรเทาอาการท้องเสีย มีการนำมะตูมมาใช้บรรเทาอาการท้องเสียตามคำกล่าวอ้างสรรพคุณในตำรับยาอายุรเวทอย่างแพร่หลาย ทั้งยังปรากฏผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์บางชิ้นที่สอดคล้องกับความเชื่อนี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทดลองนำผลมะตูมแห้งไม่ปอกเปลือกต้มในน้ำร้อน แล้วใช้น้ำที่ได้หยดลงในเซลล์ที่มีเชื้ออีโคไลอันเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย ผลพบว่าสารสกัดจากผลมะตูมมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดังกล่าวได้
นอกจากนี้ มะตูมอาจมีสรรพคุณเป็นยาป้องกันอาการท้องเสียอย่างรุนแรงที่เกิดจากโรคบิดได้ด้วย เนื่องจากมีสารเลกติน (Lectins) ที่ช่วยต้านเชื้อบิดชิเกลล่าอันเป็นสาเหตุของโรคบิดไม่มีตัว ดังปรากฏในงานวิจัยอีกชิ้นที่พบว่าสารสกัดจากผลมะตูมช่วยยับยั้งเชื้อบิดชิเกลล่าและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบิด มะตูมจึงอาจช่วยรักษาและป้องกันอาการท้องเสียได้จริงตามที่มีกล่าวอ้างในตำรับยาอายุรเวท
แม้การศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นสรรพคุณของมะตูมในการบรรเทาอาการท้องเสีย แต่ก็ยังไม่ชัดเจนมากพอที่ทางการแพทย์จะแนะนำให้ใช้เป็นยารักษาอาการดังกล่าว หากมีอาการท้องเสียควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์เป็นดีที่สุด รวมทั้งดูแลเรื่องอาหารการกินและที่อยู่อาศัยให้สะอาดถูกสุขลักษณะ และอาจเข้ารับการฉีดวัคซีนไวรัสโรต้า (Rotavirus Vaccination) เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย
รักษาแผลในกระเพาะอาหาร สาเหตุหลักของโรคแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากการติดเชื้อเอชไพโลไร (H. Pylori) ซึ่งจะส่งผลให้ผนังกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กอักเสบ เยื่อบุทางเดินอาหารถูกทำลาย และกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งกรดออกมาจนบริเวณดังกล่าวเกิดเป็นแผล เชื่อกันว่าผลมะตูมมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร งานวิจัยชิ้นหนึ่งพิสูจน์คุณสมบัติด้านนี้โดยทดลองให้หนูที่ป่วยเป็นโรคนี้จากการติดเชื้อเอชไพโลไรกินสารสกัดจากมะตูมสดแล้ววัดผล ผลปรากฏว่าแผลในกระเพาะอาหารของหนูลดลงเทียบเท่ากับการใช้ยารักษาแผลในกระเพาะอาหารอย่างซูคราลเฟต (Sucralfate) จึงอาจกล่าวได้ว่าผลมะตูมสดมีประโยชน์ในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไพโลไร โดยช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงานวิจัยดังกล่าวศึกษากับสัตว์ทดลอง จึงยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามะตูมจะช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารในคน ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์เพื่อบรรเทาอาการอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารอันเกิดจากเชื้อเอชไพโลไรนั้นต้องได้รับยาปฏิชีวินะเพื่อฆ่าเชื้อ ควบคู่กับการรับประทานยาลดกรดเพื่อบรรเทาการเกิดแผล
รักษาเบาหวาน คนส่วนใหญ่เชื่อว่ามะตูมมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน ประเด็นนี้ถูกนำไปศึกษากับหนูทดลองที่ป่วยเป็นโรคนี้ ผลพบว่าหนูที่ได้กินสารสกัดจากเปลือกมะตูมเป็นเวลา 28 วัน มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ สารสกัดมะตูมยังช่วยเพิ่มระดับอินซูลินและควบคุมไขมันในเลือด มะตูมจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยรักษาโรคเบาหวานได้
อย่างไรก็ตาม ยังสรุปอย่างชัดเจนไม่ได้ว่ามะตูมมีสรรพคุณรักษาโรคเบาหวานมากน้อยเพียงใด เนื่องจากผลลัพธ์ดังกล่าวเป็นการทดลองกับสัตว์เท่านั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโดยตรงต่อไป ที่สำคัญ มะตูมอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงแก่ผู้ป่วยเบาหวานได้ เพราะหากมะตูมช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้จริง การใช้ยารักษาเบาหวานควบคู่ไปด้วยนั้นอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เกินไปได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ รวมทั้งหมั่นสังเกตระดับน้ำตาลในเลือดขณะใช้มะตูมเป็นยารักษาโรค
ป้องกันโรคมะเร็ง เชื่อกันว่ามะตูมมีสรรพคุณในการรักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ ซึ่งจากการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่าการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของมะตูมในการต้านเซลล์มะเร็งและป้องกันสารเคมีบางชนิด ซึ่งอาจส่งผลดีต่ออาการของโรค ดังปรากฏในการศึกษากับเซลล์มะเร็งบางชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการยับยั้งเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งระบบประสาทนิวโรบลาสโตมา
นอกจากนี้ การรับประทานมะตูมยังอาจส่งผลดีต่ออาการของโรคมะเร็งตับ เนื่องจากมีการทดลองในสัตว์ชิ้นหนึ่งเผยให้เห็นว่าหนูที่ป่วยเป็นมะเร็งตับมีอาการอักเสบและการเจริญเติบโตของเนื้อร้ายลดลงหลังจากได้กินสารสกัดมะตูมเข้าไป ทั้งนี้ สารสกัดมะตูมจะมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งมากน้อยเพียงใด จำเป็นต้องมีการทดสอบกับผู้ป่วยจริงโดยตรงต่อไป เนื่องจากงานวิจัยในปัจจุบันล้วนศึกษากับสัตว์หรือเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองเท่าน้้น ไม่อาจรับรองผลได้อย่างชัดเจนหากนำมาใช้รักษาคน สำหรับผู้ที่ต้องการรับประทานมะตูมเพื่อสรรพคุณทางยาควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากมะตูมอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อภาวะสุขภาพบางประการ หรือทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางตัวได้
บริโภคมะตูมอย่างไรให้ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ
ไม่ควรรับประทานมะตูมมากเกินไป เนื่องจากอาจทำให้มีอาการท้องไส้ปั่นป่วนและท้องผูกได้
สตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนนำมะตูมมาใช้รักษาอาการป่วย เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อมูลทางการแพทย์เพียงพอต่อการรับรองความปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้มะตูมเป็นยาร่วมกับยารักษาเบาหวาน เนื่องจากอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไปได้ หยุดบริโภคมะตูมก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงระหว่างและหลังการผ่าตัด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.pobpad.com
2 ก.พ. 2566
17 มิ.ย. 2563
23 พ.ย. 2565
7 ม.ค. 2566